คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ตลาดเงินป่วน-ตั้งรับต้นทุนธุรกิจเพิ่ม

เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีสะเทือนไทย นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ปีนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ทำตลาดเงินตลาดทุนป่วน ต้นทุนธุรกิจเพิ่ม ภาระการคลังพุ่ง ธปท.เจอโจทย์ยากตรึงดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจ ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงครึ่งปีหลัง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินเฟ้อสหรัฐเดือน ม.ค.ที่สูงถึง 7.5% ต่อปี ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น ต้องบอกว่า “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้”

แน่นอน ที่จะกระทบคนไทยอย่างแรกในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีเศรษฐกิจเปิดคือ ต้นทุนการผลิตจะแพงขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยแย่อยู่แล้วจึงอาจไม่เห็นปัญหาเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งทันที ดังนั้น ภาระจะตกอยู่กับผู้ประกอบการจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งสูงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน ราคาอาหาร และมีคนแห่ซื้อรถยนต์มือสอง ทำให้ตลาดโตขึ้นถึง 40% ดังนั้น เงินเฟ้อในสหรัฐมีทั้งที่เกิดจากปัจจัยชั่วคราว และสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล ว่าเงินเฟ้อจะค้างอยู่นาน อย่างพวกค่าเช่าบ้าน ค่าแรง

ตลาดเงินตลาดทุนป่วน
“ประเด็นเหล่านี้จะกระทบไทยจากผลของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะสิ่งที่เห็นคือ เงินเฟ้อสหรัฐมาเร็ว และมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ จึงมองว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

โดยปีนี้อาจเห็นการปรับขึ้นถึง 7 ครั้ง จากที่คาดไว้แค่ 5 ครั้ง โดยเดือน มี.ค.อาจขึ้นถึง 0.50% ถึงสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐอาจขึ้นไปอยู่ใกล้ ๆ 2% แสดงว่าตลาดเชื่อว่าเฟดกำลังวิตก คนไม่เชื่อว่าเฟดเอาอยู่” ดร.พิพัฒน์กล่าวและว่า

อีกผลกระทบคือ ความปั่นป่วนของตลาดเงินตลาดทุน เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต่างกันระหว่างสหรัฐ-ไทย ทำให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด และส่งผลต่อสภาพคล่องในประเทศ ต้นทุนการเงิน

รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่า เพราะ 2 ปัญหาคือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงกว่าไทยไปเรื่อย ๆ และไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่

“คนหวังไว้เยอะ ถ้านักท่องเที่ยวกลับมาเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่จนถึงวันนี้นักท่องเที่ยวก็ยังไม่มา เราก็ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่”

ในแง่ภาคธุรกิจจะมีผลกระทบ2 ด้าน คือ 1.กำไรจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ส่งผ่านไม่ได้ 2.ต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) เมื่อดอกเบี้ยสหรัฐเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยไทยก็จะขยับตาม

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 5% ถ้าถามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็คงยังไม่อยากขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ร้อนแรง แต่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศมาจากเรื่องต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยลดเงินเฟ้อ แต่หากดอกเบี้ยสหรัฐต่างกับดอกเบี้ยไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องดูว่า กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร

หากสถานการณ์ราคาพลังงานต่าง ๆยังเพิ่มต่อเนื่อง เงินเฟ้อไม่ลดก็จะมีปัญหาภาระการคลังตามมาอีก จากการใช้หลายมาตรการพยุงเงินเฟ้อ ถึงจุดหนึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้น กับปัญหาภาระการคลังที่สูงขึ้น

“ความเสี่ยงในภาวะที่เจอเงินเฟ้อเพิ่ม แล้วเศรษฐกิจไม่ดี คนดูแลจะเหนื่อยมาก เพราะไม่รู้จะเอาอะไรไปแก้ ปกติถ้าเงินเฟ้อร้อนแรงก็ขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่นี่ไม่รู้จะทำอย่างไร เราเรียกปัญหานี้ว่า stagflation” ดร.พิพัฒน์กล่าว

โจทย์ยาก ธปท.คง ดบ.ฟื้น ศก.
ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเริ่มคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในลักษณะที่เร่งตัวขึ้น บางส่วนมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งในปีนี้ และถึงสิ้นปีดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะขึ้นไปที่ระดับ 1.75-2.00%

หากเป็นเช่นนี้จะกระทบไทยแน่ เพราะดอกเบี้ยต่างกันมาก ต้องดูว่า กนง.จะตัดสินใจอย่างไร ที่ผ่านมาก็ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ หากเป็นเช่นนี้จะยืนได้นานแค่ไหน

“ทำให้เป็นเรื่องยากที่ไทยจะรักษาดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่ไม่ได้หมายความว่า เฟดทำแล้วเราต้องทำ เพราะโจทย์เศรษฐกิจแต่ละที่ต่างกัน การตัดสินใจก็ต่างกัน แต่บังเอิญมีเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ก็เป็นประเด็นสำคัญที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมา ต้องดูว่า กนง.จะเดินอย่างไร เพราะโจทย์ยากขึ้น ที่สำคัญคือ เงินเฟ้อบ้านเราด้วย ถ้าไม่ลดลง กนง.จะยืนดอกเบี้ย ก็ยิ่งไม่มีคำอธิบาย” ดร.เชาว์กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าการส่งผ่านเงินเฟ้อจากสหรัฐมาไทยอาจมีไม่มาก แต่หนีไม่พ้นว่าขณะนี้มีเงินเฟ้อเกิดขึ้นในไทยแล้ว ยิ่งค่าครองชีพแพงขึ้น คนก็อยากได้ค่าแรงเพิ่ม ก็จะกลายเป็นปัญหาต้นทุนของภาคธุรกิจอีก

“นโยบายการดูแลค่าครองชีพ รัฐบาลทำอยู่ แต่คงทำเท่าที่มีงบประมาณ ส่วนนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เมื่อเจอหลายโจทย์รอบด้าน ทั้งสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อในประเทศก็สูง เผลอ ๆ ปีนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี รัฐบาลก็มีข้อจำกัดด้านการคลัง ก็อยู่ที่ ธปท.จะให้น้ำหนักอย่างไร ที่ผ่านมาก็ประคับประคองเศรษฐกิจกันอยู่” ดร.เชาว์กล่าว

คาดเงินเฟ้อลดครึ่งปีหลัง
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อ ถือเป็นประเด็นที่ กนง.ให้ความสำคัญ ปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด ณ เดือน ม.ค. 2565 มีแนวโน้มปรับมาอยู่ที่ 3.2% ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึง 27% ส่วนอาหารสดปรับอยู่ที่ 22%

ความเสี่ยงระยะข้างหน้าของเงินเฟ้อจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.ราคาพลังงาน อาหารสด 2.การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น กรณีราคาพลังงานปรับขึ้น ไปถึงค่าขนส่ง หรือราคาเนื้อสุกรและโค ส่งผ่านไปยังราคาข้าวกล่อง อาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 3.ปัญหา supply disruption การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิด

เตรียมทบทวนเป้าเงินเฟ้อ
นายสุรัชกล่าวว่า ธปท.จะทบทวนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ 1.7% ในรอบการประชุมเดือน มี.ค.นี้ โดยทั้งปีคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และเป็นอัตราที่ภาคธุรกิจวางแผนได้ นอกจากนี้จะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปี 2565 ด้วย

“ธปท.ติดตามเรื่องเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดจากการประเมินอาจเร่งขึ้นในช่วงแรก แต่ครึ่งหลังมีแนวโน้มลดลง ทำให้ตัวเลขทั้งปียังอยู่ในกรอบ โดยภาครัฐยังคงดูเรื่องราคาน้ำมันในไตรมาสแรก คาดว่าไตรมาส 2 ราคาน้ำมันจะลดลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯจะดูแลลดลงด้วย แต่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน กองทุนน้ำมันฯยังมี capacityอยู่ 3 หมื่นล้านบาท” นายสุรัชกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

admin