“ดีป้า” ปักหมุด eatsHUB คิดจีพี 8% เป้า 2 พันไรเดอร์สะพัด 5 พันล้าน/ปี

ดีป้า ร่วมกับ ฟู้ด ออเดอรี่ เปิดตัวแพลตฟอร์มรับส่งสินค้า/อาหารสัญชาติไทยในชื่อ eatsHUB ทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ช่วยปรับรูปแบบธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ชูจุดเด่นเรื่องค่าส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าสมาชิกในอัตราเพียง 8% เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มสัญชาติไทยเพื่อคนไทย คาดสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ยังผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในภารกิจของดีป้า คือการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ให้สามารถดำเนินธุรกิจก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 สอดรับกับยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดได้ร่วมมือกับ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม National Delivery ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน

โครงการดังกล่าวมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มรับส่งสินค้า/อาหารสัญชาติไทยในชื่อ eatsHUB แพลตฟอร์มสัญชาติไทยเพื่อคนไทย โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งร้านที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก ร้านอาหารขนาดกลาง หรือแม้แต่ร้านอาหารตามสั่งขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร้าน สร้างฐานข้อมูล พร้อมขยายฐานลูกค้า

“โดยชูจุดแข็งในเรื่องของการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (Gross Profit: GP) ในอัตรา 8% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าส่วนแบ่งรายได้ของแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเรียกเก็บเฉลี่ย 30% พร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ร้านค้า และช่องทางการขายที่หลากหลาย เช่น Mobile Application, Call Center, เว็บไซต์, ระบบ POS และ Cloud Kitchen นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี” ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้ากล่าว

ทั้งนี้ ดีป้า และ ฟู้ด ออเดอรี่ ได้ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์ม eatsHUB ไปแล้ว 6 จังหวัด โดยระยะเริ่มต้นตั้งเป้าให้บริการประชาชนในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองหลัก 17 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และพระนครศรีอยุธยา โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 20,000 ราย พร้อมสร้างอาชีพไรเดอร์มากกว่า 2,000 ราย

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business

admin